คัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2562
การดำเนินงานโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) เป็นกิจกรรมหนึ่งของการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) ต่อเนื่องจากการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐาน ในระดับสากล
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)
1.2 เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.3 เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน
1.4 เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
2. กรอบการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
2.1 สามารถส่งออกได้ (Exportable) โดยมีความแกร่งของตราผลิตภัณฑ์ (Brand Equity)
2.2 ผลิตอย่างต่อเนื่องและคุณภาพคงเดิม (Continuous & Consistent)
2.3 ความมีมาตรฐาน (Standardization) โดยมีคุณภาพ (Quality) และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า (Satisfaction)
2.4 มีประวัติความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ (Story of Product) ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนเชิงพื้นที่
3. ประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าคัดสรรฯ
3.1 ประเภทอาหาร
3.2 ประเภทเครื่องดื่ม
3.3 ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย
3.4 ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก
3.5 ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
4. การจัดระดับผลิตภัณฑ์
4.1 ระดับ 5 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 90 -100 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีศักยภาพในการส่งออก
4.2 ระดับ 4 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 80 – 89 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ และสามารถพัฒนาสู่สากล
4.3 ระดับ 3 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 70 – 79 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีคุณภาพระดับกลางที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 4 ดาวได้
4.4 ระดับ 2 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 50 – 69 คะแนน) เป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 3 ดาว มีการประเมินศักยภาพเป็นระยะ
4.5 ระดับ 1 ดาว (ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน) เป็นสินค้าที่ไม่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 2 ดาวได้ เนื่องจากมีจุดอ่อนมาก และพัฒนายาก
เครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge-Based OTOP)
1. ความเป็นมา
การขับเคลื่อน OTOP รัฐบาลได้ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ให้มีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน และการส่งเสริมบทบาทของสถาบันการศึกษาในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อผนึกกำลังของทุกภาคส่วนในชุมชนขับเคลื่อน OTOP สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในรูปแบบของเครือข่ายองค์ความรู้ หรือ Knowledge – Based OTOP : KBO โดยกรมการพัฒนาชุมชน เริ่มดำเนินการโครงการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge-Based OTOP) เมื่อปี พ.ศ. 2549 ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 ภาคๆ ละ 1 จังหวัด ได้แก่
ภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดอุดรธานี
ภาคกลาง คือ จังหวัดราชบุรี
ภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา
โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนให้มีเครือข่ายองค์ความรู้ Knowledge – Based OTOP : KBO จำนวน 75 เครือข่าย จัดทำทะเบียนเครือข่ายองค์ความรู้ KBO สนับสนุนให้กลุ่มผู้ผลิตชุมชนมีการเรียนรู้จากเครือข่าย KBO จังหวัด พร้อมทั้งหาความต้องการกลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP (Training Needs : TN)
2. วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายองค์ความรู้ KBO เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนให้แก่กลุ่มผู้ผลิตชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการประกอบการ และมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา
3. หลักสำคัญ
คือการเชื่อมโยงแหล่งความรู้ในท้องถิ่นและชุมชนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานด้านเทคนิคการผลิตที่เกี่ยวข้อง มีการเสริมสร้างความรู้ ทักษะและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความโดดเด่น มีคุณภาพมาตรฐานพร้อมที่จะจำหน่ายทั้งในตลาดภายในและตลาดต่างประเทศได้ ที่สำคัญผลิตภัณฑ์นั้นยังคงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชุมชนอย่างเด่นชัด
การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดย KBO จังหวัดจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้เพื่อไปสนับสนุนความรู้ด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการแก่กลุ่มผู้ผลิต OTOP
Provincial Star OTOP (PSO)
1. ความเป็นมา
คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ (กอ.นตผ) มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ที่แสดงเอกลักษณ์ของจังหวัด สำหรับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัด กรมการพัฒนาชุมชนกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางให้คณะอนุกรรมการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัด เป็นผู้พิจารณาผลิตภัณฑ์จากจังหวัดตามเกณฑ์ที่กำหนด เสนอให้คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณา
2. กรอบแนวคิด
“คัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดที่มีเอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคุณค่า เป็นที่นิยมมีศักยภาพด้านการผลิตและความสามารถด้านการตลาด โดยพิจารณาจากด้านผู้บริโภคและการส่งเสริมจากหน่วยงาน”
3. วัตถุประสงค์
3.1 คัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดทั่วประเทศ
3.2 นำผลิตภัณฑ์เด่นเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมและพัฒนา
4. หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดสรร “Provincial Star OTOP : PSO” ด้าน Supply Side พิจารณาจาก 4 ด้าน
เกณฑ์การพิจารณา | ตัวชี้วัด |
1. อัตลักษณ์
(Provincial Identity) |
• ผลิตภัณฑ์แสดงความเป็นตัวตนของจังหวัด
• ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น มีชื่อเสียงของจังหวัด • มีลักษณะจำเพาะ |
2. ภูมิปัญญา + ทรัพยากรท้องถิ่น
(Local Wisdom & Resources |
• การสืบทอดองค์ความรู้ที่เน้นภูมิปัญญาท้องถิ่น
• สัดส่วนของวัตถุดิบภายในจังหวัดที่ใช้ในการผลิต • องค์ความรู้ในการผลิต • ใช้แรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดในการผลิต |
3. ความสามารถด้านการตลาด
(Marketable) |
• ความพึงพอใจของผู้บริโภค
• เป็นของฝากของที่ระลึกประจำจังหวัด • สร้างอาชีพรายได้ให้กับคนในจังหวัด • มีตลาดที่มั่นคงภายในประเทศและหรือต่างประเทศ |
4. การพัฒนาต่อยอด / สร้างสรรค์
(Value Creation) |
• มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย
• เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการแปรรูป |
ด้าน Demand Side จัดทำ Workshop เพื่อคัดเลือก PSO จาก Supply Side
- ผู้บริโภค
- ชาวต่างประเทศในประเทศไทย
- นักการตลาด
- หน่วยงาน/องค์กรด้านการตลาด
5. ผลการคัดสรร “Provincial Star OTOP : PSO”
การคัดสรร Provincial Star OTOP (PSO) ปี 2549 จำนวน 187 รายการ แยกเป็นประเภทผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1) ประเภทอาหาร จำนวน 65 รายการ
2) ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 8 รายการ
3) ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 48 รายการ
4) ประเภทของใช้ จำนวน 63 รายการ
5) ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 3 รายการ
การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D)
กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ (Quadrant) ของ OTOP ตามศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิต ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มดาวเด่นสู่สากล A มีคุณภาพสูง และผลิตได้จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง มีตลาดจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตที่รองรับการสั่งซื้อได้ในปริมาณมากและมีศักยภาพในการส่งออกตลาดต่างประเทศได้ระยะยาว
2) กลุ่มเอกลักษณ์สร้างคุณค่า B มีคุณภาพสูง ผลิตได้จำนวนน้อย ขั้นตอนกระบวนการผลิตยากและซับซ้อนเป็นงานหัตกรรมประณีตศิลป์ มีเอกลักษณ์ของสินค้าแต่ละชิ้น ใช้ระยะเวลาในการผลิตและไม่สามารถผลิตสินค้าที่เหมือนกันในปริมาณมากได้
3) กลุ่มพัฒนาสู่การแข่งขัน C มีคุณภาพระดับพื้นฐานตามที่กฎหมายกำหนด หรือมาตรฐานอื่นที่รองรับผลิตไม่มีความซับซ้อน ผลิตจำนวนมาก มีกำลังการผลิตเพียงพอ หรือมีกำลังการผลิตในลักษณะเป็นเครือข่าย มีตลาดจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชน และสามารถเข้าสู่การแข่งขันในตลาดได้
4) กลุ่มปรับตัวการพัฒนา D มีการผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน ผลิตได้จำนวนน้อย หรือหลากหลาย ยังไม่ได้มีการรับรองมาตรฐานต้องการในการพัฒนาศักยภาพในตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน
1. ผลการดำเนินจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ (Quadrant) จากฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2557-2562 สรุปดังนี้
1) กลุ่มดาวเด่นสู่สากล A จำนวน 9,215 ผลิตภัณฑ์
2) กลุ่มเอกลักษณ์สร้างคุณค่า B จำนวน 9,866 ผลิตภัณฑ์
3) กลุ่มพัฒนาสู่การแข่งขัน C จำนวน 25,527 ผลิตภัณฑ์
4) กลุ่มปรับตัวการพัฒนา D จำนวน 141,748 ผลิตภัณฑ์
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีความรู้ในด้านการตลาด การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบตลาดได้
2) เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพและศักยภาพทางการตลาดเพิ่มขึ้น
OTOP Brand name
กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2562 จัดแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 ประเภท รวมผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียน จำนวน 186,356 ผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- ประเภทอาหาร จำนวน 70,731 ผลิตภัณฑ์
- ประเภทเครื่องดื่ม จำนวน 8,927 ผลิตภัณฑ์
- ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 34,667 ผลิตภัณฑ์
- ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 48,400 ผลิตภัณฑ์
- ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 23,631 ผลิตภัณฑ์
และในปี 2559-2562 กรมฯ ดำเนินงานโครงการพัฒนายกระดับสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ Cluster กระเป๋า (OTOP Brandname) โดยการให้ความรู้การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท โดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลได้
อาหารถิ่นรสไทยแท้
อาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรม ยกระดับมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste)
1. วัตถุระสงค์
1) เพื่อยกระดับและให้การรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) ให้กับผู้ประกอบการเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของอาหารถิ่นรสไทยแท้ อันเป็นจุดขายของอาหารไทย ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
2) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณภาพมาผลิตเป็นอาหารถิ่นรสไทยแท้อันเป็นการสร้างมูลค่าให้กับอาหารไทยสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
3) เพื่อให้อาหารไทยได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี โดยการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ การวิเคราะห์ทดสอบกลิ่นและรสชาติ เพื่อเชื่อมโยงรองรับมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste)
4) เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการบริโภคอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว